ข้อมูลสารสนเทศ

1. รู้จักข้อมูล

    ในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์จะต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การตื่นนอน หรือการเดินทางไปโรงเรียน

1.1 ความหมายของข้อมูล

    มีผู้ให้ความหมายของข้อมูลไว้หลากหลาย แต่สามารถสรุปได้ ดังนี้

    ข้อมูล คือ ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยอาจจะเกิดขึ้นจากการสังเกต การจดบันทึก การสัมภาษณ์ การสอบถาม แล้วมีการรวบรวมข้อมูลไว้ เช่น คะแนนสอบ จำนวนนักเรียนในห้องี

1.2 ประเภทของข้อมูล

    ข้อมูลที่อยู่รอบตัวเรา สามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้

1) ข้อมูลตัวอักขระ เป็นข้อมูลที่ประกอบไปด้วยตัวอักษรภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ เช่น ชื่อ-นามสกุล ประวัติโรงเรียน หรือ ข้อความที่เป็นตัวเลขซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ในการคำนวณ เช่น ป้ายทะเบียนรถ บ้านเลขที่ เลขประจำตัวนักเรียน

2) ข้อมูลภาพ เป็นข้อมูลที่มีลักษณะเป็นภาพในรูปแบบต่าง ๆ ที่เรามองเห็นซึ่งอาจจะเป็นภาพนิ่งเช่น ภาพวาด ภาพถ่าย หรือภาพคลื่อนไหว เช่น ภาพจากโทรทัศน์ภาพจากวีดิทัศน์

3) ข้อมูลตัวเลข เป็นข้อมูลที่ประกอบด้วยตัวเลข 0 - 9 ที่เราสามารถนำมาใช้ในการคำนวณหรือประมวลผลได้ เช่น ราคาสินค้าจำนวนเงิน คะแนนสอบวิชาต่าง ๆ

4) ข้อมูลเสียง เป็นข้อมูลที่เกิดจากการได้ยิน เช่น เสียงคนพูดเสียงสัตว์ร้อง เสียงจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ และเสียงจากอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถแสดงผลข้อมูลในรูปแบบเสียงได้ เช่น แผ่นซีดี

5) ข้อมูลอื่น ๆ เป็นข้อมูลที่นอกเหนือจากข้อมูลทั้ง 4 ประเภท ที่กล่าวมาข้างต้น เช่น ข้อมูลกลิ่น ข้อมูลรสชาติ ข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิ

1.3 ลักษณะของข้อมูลที่ดี

    ในการค้นหาข้อมูลเพื่อจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะต้องพิจารณาหาข้อมูลที่ดีที่สุด ซึ่งข้อมูลที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้

1) มีความถูกต้องเชื่อถือได้ ข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้จะต้องได้มาจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น การสอบถามจากผู้รู้โดยตรง การค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐการค้นหาจากหนังสือเอกสารต่าง ๆ

2) มีความสมบูรณ์ครบถ้วน สามารถนำไปใช้งานได้ ข้อมูลที่ดีจะต้องมีรายละเอียดครอบคลุมครบทุกด้าน เช่น มีการบอกข้อดีและข้อเสีย บอกประโยชน์และโทษของข้อมูลนั้น ๆ

       3) ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ ข้อมูลที่ผู้ใช้งานเลือกใช้จะต้องเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการ ไม่นำข้อมูลที่ไม่จำเป็นหรือไม่เกี่ยวข้องมาใช้ เพราะจะทำให้เสียเวลาในการค้นหาและได้ข้อมูลที่ไม่ต้องการ

4) มีความทันสมัย ข้อมูลควรจะเป็นข้อมูลที่ทันสมัยตามกาลเวลา เพราะจะทำให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ทันที

5) มีความสอดคล้องกันของข้อมูล ในการหาข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง ข้อมูลที่ได้ควรจะเป็นข้อมูลที่เป็นเรื่องเดียวกัน และมีเนื้อหาที่สอดคล้องกันสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้